สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดมุกดาหาร



อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ
อำเภอเมือง จ.มุกดาหาร


อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ เดิมชื่อ อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 59 ของประเทศไทยมีเนื้อที่ 48.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 30,312.5 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองมุกดาหาร และอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ห่างจากตัวเมืองประมาณ 17 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางมุกดาหาร-ดอนตาล(ทางหลวงหมายเลข 2034) แยกเข้าทางขวามืออีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือ นั่งรถจากกรุงเทพฯไปลงที่สถานีขนส่งมุกดาหาร และต่อรถสองแถว (สีเหลือง) ค่าโดยสารประมาณ 5 บาทไปลงที่ตลาดพรเพชร แล้วต่อรถสองแถวสายมุกดาหาร – ดอนตาล ค่าโดยสารประมาณ 10 บาท ลงที่ปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ หรือบอกให้คนขับรถเข้าไปส่งที่อุทยานฯก็ได้ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทราย ประกอบด้วยเทือกเขาน้อยใหญ่หลายลูกติดต่อกัน แบบลูกคลื่นและเป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาภูพาน เทือกเขาเหล่านี้วางตัวในลักษณะแนวเหนือ-ใต้ขนานและห่างจากชายฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 4 กิโลเมตร ภายในอุทยานฯประกอบด้วยภูหมากยาง ภูมโน ภูโปร่ง ภูรัง ภูจอมนาง ภูหมากมี่ ภูผาเทิบ ภูนางหงส์ ภูถ้ำพระ ภูหลักเสและยอดเขาสูงสุดคือ ยอดภูจอมศรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 170-420 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ห้วยตาเหลือก ห้วยสิงห์ ห้วยเรือ ห้วยมะเล ห้วยช้างชน เป็นต้น แถบบริเวณเชิงเขาเป็นป่าไผ่ขึ้นสลับเป็นแนว หลายบริเวณเป็นหน้าผาสูงและลานหินกว้าง มีหินรูปร่างแปลกๆ มากมาย
สถานที่น่าเที่ยวชมภายในอุทยานแห่งชาติมุกดาหาร ได้แก่
1.กลุ่มหินเทิบ

การเกิดกลุ่มหินเทิบจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่มาของประติมากรรม ธรรมชาติเหล่านี้ล้วนเกิดจากการกัดเซาะของฝน น้ำ ลมและแสงแดด ผ่านกาลเวลามาถึง 120-95 ล้านปี ทำให้กลุ่มหินเหล่านี้มีสภาพแตกต่างกันไปดูคล้ายรูปไอพ่น จานบิน เก๋งจีน มงกุฎ หัวจระเข้และหอยสังข์ ซึ่งความคงทนของชั้นหินที่แตกต่างกัน ก็เนื่องจากการประสานของเนื้อทรายแตกต่างกัน หินทรายชั้นบนที่คงทนมีสีเนื้อหินเป็นสีน้ำตาล มีส่วนประกอบที่เป็นซิลิกาและเม็ดกรวดมาก ส่วนหินทรายชั้นต่ำลงมาที่ไม่คงทน มีสีของเนื้อหินเป็นสีขาวจะมีส่วนผสมของคาร์บอเนตมาก สภาพของธรณีวิทยา บริเวณกลุ่มหินเทิบประกอบด้วยหินชั้นของหมวดหินเสาขัว และกลุ่มหินภูพานของกลุ่มหินโคราช มีการลำดับชั้นหินอยู่ในมหายุคมีโซโซอิค ประกอบด้วย หินโคลน หินทราย หินทรายแป้ง และหินกรวดมนหนาประมาณ 200 เมตร
2.ลานมุจลินท์

เป็นลานหินเรียบทอดยาวกว้างไกลต่อจากกลุ่มหินเทิบ โดยมีป่าเต็งรังแคระล้อมรอบ ให้ความงดงามกลมกลืนกับธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง มีพันธุ์ไม้พุ่มจำพวกข่อยหิน นางฟ้าจำแลง อ้นเหลืองและกระโดนดาน เป็นส่วนประกอบจุดเด่นของที่นี้ที่ไม่ควรมองข้ามคือ กลุ่มดอกหญ้าของสังคมพืชขนาดเล็ก เช่น สร้อยสุวรรณา หยาดน้ำค้าง หนาวเดือนห้า ดาวรวมดวงและดุสิตา ซึ่งจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ของทุกปี ณ กลางลานแห่งนี้ยังสามารถมองเห็นทัศนียภาพแม่น้ำโขงได้ด้วย
3.น้ำตกวังเดือนห้า

เป็นน้ำตกขนาดเล็กเกิดจากสายธารที่ไหลผ่านลานหินมุจลินท์ ภายในน้ำตกประกอบไปด้วยแอ่งหิน หุบหิน โขดหิน นักท่องเที่ยวนิยมไปชมทัศนียภาพ และเล่นน้ำตกในฤดูแล้ง จะมีบ่อน้ำซับไหลหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์และสัตว์ป่า
4.ผาอูฐ

หน้าผาแห่งนี้มีประติมากรรมหิน รูปร่างคล้ายอูฐทะเลทรายและเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม สามารถมองเห็นภูถ้ำพระ ผาผักหวานและผาขี้หมู ได้อย่างชัดเจน เบื้องล่างของผาอูฐคือหุบเขากว้างไกล และมีป่าไม้เขียวขจีปกคลุม

5.ภูถ้ำพระ

ตามตำนานแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ สมัยโบราณ เคยมีหมู่บ้านขอมอาศัยอยู่มาก่อนที่จะย้ายถิ่นฐานหนีภัยธรรมชาติ จึงนำพระพุทธรูปที่ตนบูชาสักการะ ไปเก็บไว้ที่ถ้ำแห่งนี้ประกอบไปด้วย พระเงิน พระนาก พระทองคำ พระหยก พระว่านและพระไม้ เป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน พระพุทธรูปที่มีค่าสูญหาย คงเหลือเฉพาะพระที่แกะสลักด้วยไม้เท่านั้น ณ ตรงนี้ยังมีน้ำตกที่สวยงามคือ “น้ำตกภูถ้ำพระ” อีกด้วย
6.ผามะนาว

เป็นหน้าผาเรียบสูงชัน มีน้ำตกไหลจากบนหน้าผาลงสู่เบื้องล่างหล่อเลี้ยงทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าให้อุดมสมบูรณ์ ด้านบนหน้าผาสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของกลุ่มหินเทิบ และแม่น้ำโขงได้กว้างไกล ด้านล่างของหน้าผาจะพบความสวยงามของน้ำตก ป่าไม้และสัตว์ป่า สำหรับที่มาของชื่อผามะนาว เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีต้นมะนาวป่าขึ้นเป็นจำนวนมาก
7.ถ้ำฝ่ามือแดง

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าภาพเหล่านี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีและเป็นของมนุษย์สมัยโบราณ แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้อยู่ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร 1(ห้วยสิงห์) ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติมุกดาหารประมาณ 8 กิโลเมตร
น้ำตกตาดโตน
อำเภอหนองสูง จ.มุกดาหาร

น้ำตกตาดโตน อยู่ห่างจากอำเภอหนองสูงไปทางทิศใต้ และอยู่ห่างจากอำเภอคำชะอีไปทางทิศตะวันตก ตามถนนสาย 2030 ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 67-68 แยกเข้าไปอีกประมาณ 400 เมตร ทางขวามือ ระยะน้ำตกสูง 7 เมตร กว้าง 30 เมตร มีแอ่งน้ำสำหรับเล่นน้ำได้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวมุกดาหารและชาวจังหวัดใกล้เคียง

แก่งกะเบา

อำเภอหว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร

 แก่งกะเบา เป็นแก่งหินยาวเหยียดตามลำน้ำโขง บนฝั่งก็ยังมีลานหินกว้างใหญ่ เป็นที่พักผ่อนได้อย่างดี ในฤดูแล้งน้ำลดจนเห็นเกาะแก่งกลางน้ำ และหาดทรายสวยกว่าฤดูอื่นๆ บริเวณริมแก่งกระเบามีร้านอาหารตั้งอยู่ อาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของที่นี่ คือ หมูหันซึ่งมีรสชาติอร่อยตามแบบฉบับสูตรเด็ดของท้องถิ่น
การเดินทางใช้เส้นทางมุกดาหาร-ธาตุพนม (ทางหลวงหมายเลข 212) ประมาณ 20 กิโลเมตร แยกขวาไปอำเภอหว้านใหญ่อีก 9 กิโลเมตร จะพบทางแยกไปแก่งกะเบา ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศเหนืออีก 8 กิโลเมตร

อ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยขี้เหล็ก

อำเภอนิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร
อ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยขี้เหล็ก ตั้งอยู่บนเส้นทาง 212 (สายมุกดาหาร-เลิงนกทา) ห่างจากตัวเมืองมุกดาหารประมาณ 23 กิโลเมตร ก่อนถึงทางเข้าภูหมู เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดมุกดาหาร